เมื่อ : 23 เม.ย. 2568


ย้ำระยะเวลาเรียนและรูปแบบการเรียนการสอนต้องชัดเจน พร้อมให้ สตม.จัดส่งข้อมูลสถิติการอนุมัติวีซ่านักศึกษาต่างชาติแบบเรียลไทม์ ใช้วิเคราะห์ติดตามและตรวจสอบสถานะวีซ่ากันลักลอบทำงานผิดกฎหมายในไทย

 

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) น.ส.สุชาดา ซาง แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. ได้รับมอบหมายจาก น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวง อว. ให้เป็นผู้แทนร่วมประชุมหารือกับ พ.ต.อ.ยศเอก รักษาสุวรรณ รองผู้บังคับการอำนวยการ รักษาการแทนผู้บังคับการอำนวยการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เพื่อกำหนดแนวทางการตรวจสอบและติดตามนักศึกษาต่างชาติที่เดินทางเข้ามาศึกษาในประเทศไทย โดยมี น.ส.วราภรณ์ รุ่งตระการ รองปลัดกระทรวง อว. พ.ต.อ.คธาธร คำเที่ยง รองผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 3 พ.ต.อ.ระพีพัฒน์ อุตสาหะ รองผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 พ.ต.อ.อนุชิต ลายลักษ์ ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ 3 กองบังคับการอำนวยการ พ.ต.อ.สุรชัย เอี่ยมผึ้ง ผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวง อว. เข้าร่วม

ทั้งนี้ พ.ต.อ.คธาธร ได้นำเสนอปัญหาการพิจารณาให้วีซ่าแก่นักศึกษาต่างชาติ ว่า ปัจจุบัน สตม. พิจารณาให้วีซ่าแก่นักศึกษาต่างชาติภายใต้ พ.ร.บอก.คนเข้าเมือง ซึ่งอนุญาตให้พำนักในราชอาณาจักรได้ครั้งละไม่เกิน 90 วัน และรวมแล้วไม่เกิน 1 ปี โดยอ้างอิงจากกรอบของหลักสูตรที่ศึกษา 

 

อย่างไรก็ตาม พบว่า หลักสูตรแบบ Non-Degree หรือหลักสูตรระยะสั้นที่รับนักศึกษาต่างชาติมาเรียน ซึ่งบริหารจัดการได้เองโดยมหาวิทยาลัย ยังไม่มีระบบกลางในการกลั่นกรองหรือกำกับดูแลจากหน่วยงานภาครัฐ ทำให้เกิดความไม่ชัดเจน เช่น ระยะเวลาที่เหมาะสมต่อการเรียน รูปแบบการเรียนการสอนที่เป็นออนไลน์หรือออนไซต์ ซึ่งมีผลต่อการพิจารณาว่า นักศึกษาควรอยู่ในประเทศกี่วัน จึงเสนอให้กระทรวง อว. เข้ามาช่วยกำหนดกรอบแนวทางในประเด็นนี้ ซึ่งจะช่วยให้ สตม.สามารถอนุมัติจำนวนวันที่ให้พำนักในประเทศสอดคล้องตามความจำเป็นได้


ด้าน น.ส.สุชาดา กล่าวว่า น.ส.ศุภมาส ได้มีข้อสั่งการให้กระทรวง อว. บูรณาการการทำงานร่วมกับ สตม. และจากการหารือทำให้ได้ทราบถึงปัญหาและข้อกังวลของ สตม. ซึ่งที่ผ่านมา การดำเนินหลักสูตร Non-Degree ถือเป็นภารกิจด้านบริการวิชาการที่มหาวิทยาลัยสามารถบริหารจัดการได้เองโดยไม่จำเป็นต้องขออนุมัติจากกระทรวง อว. 

 

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและสามารถตอบสนองต่อข้อกังวลของ สตม.ที่ประชุมจึงได้มีข้อเสนอร่วมกันว่าต่อไปนี้มหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตร Non-Degree ที่รับนักศึกษาต่างชาติมาเรียนจะต้องจัดส่งกรอบหลักสูตรมาให้กระทรวง อว. รับทราบ เพื่อช่วยพิจารณาและกลั่นกรอง ในด้านมาตรฐาน ระยะเวลา และรูปแบบการเรียนการสอน ก่อนที่กระทรวง อว. จะเป็นผู้ส่งต่อข้อมูลให้กับ สตม. อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะช่วยให้ สตม. สามารถพิจารณาวันที่พำนักของนักศึกษาได้ตรงกับความจำเป็นและเหมาะสมกับหลักสูตรจริง

 

“เพื่อเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกัน กระทรวง อว. ยังเสนอให้ สตม. จัดส่งข้อมูลสถิติการอนุมัติวีซ่านักศึกษาต่างชาติแบบเรียลไทม์ เพื่อใช้วิเคราะห์และติดตามใช้วิเคราะห์ติดตามและตรวจสอบสถานะวีซ่าเพื่อป้องกันการลักลอบทำงานผิดกฎหมายในประเทศไทย ซึ่งได้รับการตอบรับในหลักการจาก สตม. นอกจากนี้ ทั้งสองหน่วยงานยังเห็นพ้องกันว่าจะจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อวางระบบการประสานงานระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้” น.ส.สุชาดา กล่าว

 

#กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)#สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.)