เมื่อ : 20 เม.ย. 2568

เมื่อวันที่ 18 เม.ย. น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) มอบหมายให้นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำวธ. เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “พัทยาชื่นฉ่ำ สืบสานตำนานสงกรานต์ จ.ชลบุรี“ Songkran Splash @Pattaya Old Town ณ ชายหาดพัทยากลาง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวธ. น.ส.ลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นายกเมืองพัทยา วัฒนธรรมจ.ชลบุรี ประธานสภาวัฒนธรรมจ.ชลบุรี และหัวหน้าส่วนราชการประจำจ.ชลบุรี ให้การต้อนรับฯ

ช่วงพิธีเปิดงาน นายพงศ์ธสิษฐ์ กล่าวต้อนรับประธานในพิธี นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา กล่าวแนะนำสถานที่ นายวันชัย จึงจรัสทรัพย์ ประธานสภาวัฒนธรรมจ.ชลบุรี กล่าวรายงาน นายพลภูมิ  ประธานในพิธี กล่าวเปิดงานและร่วมทำพิธีเปิดงาน จากนั้นรับชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากไทยธานี ชุด “การค้าขายตลาดไทยในอดีต” ร่วมปรุงต้มยำกุ้งหม้อยักษ์ บริเวณริมชายหาดพัทยา รับชมการแสดง ชุด “ดิเกร์ฮูลู” และ “ลาวกระทบไม้” เยี่ยมชมกิจกรรมพัทยาเมืองเก่า ตลาดวัฒนธรรม ลานวัฒนธรรม ลานสร้างสรรค์ ชมกิจกรรมสงกรานต์แบบมีชีวิตและชมประติมากรรมเจดีย์ทรายอัตลักษณ์ ๔ ภาค

 

นายพลภูมิ เปิดเผยว่า เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ปี ๒๕๖๘ นี้ วธ. โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรม จัดงาน ”เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์” ทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิด ”สงกรานต์บ้านฉัน สีสันแบบไทย สุขไกลทั่วโลก Once in a Lifetime : Experience Songkran in Thailand”  เพื่อส่งเสริมประเพณีไทย นำเสนอความงดงามของวัฒนธรรมไทยและต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก โดยกำหนดจัดงานประเพณีสงกรานต์ในพื้นที่ ๑๗ จังหวัด และพื้นที่ส่วนกลางกรุงเทพมหานคร โดยในส่วนของจ.ชลบุรี ขอเชิญชวนประชาชน เที่ยวงาน พัทยาชื่นฉ่ำ สืบสานตำนานสงกรานต์ จังหวัดชลบุรี : Songkran Splash @Pattaya Old Town ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๗ - ๑๙ เม.ย. ที่ชายหาดพัทยากลาง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งจัดอย่างยิ่งใหญ่ ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล พื้นที่พัทยา ถือว่าเป็นสถานที่ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้มาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว และการจัดงานประเพณีสงกรานต์ในครั้งนี้จะยิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง


ภายในงานมีกิจกรรมที่เป็นไฮไลท์มากมาย เช่น กิจกรรมพัทยาเมืองเก่า สรงน้ำและสักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์จากวัดดังในจังหวัดชลบุรี นิทรรศการประเพณีสงกรานต์ นิทรรศการภาพถ่ายและศิลปะสงกรานต์เมืองพัทยา และสาธิตศิลปะจากศิลปิน ชมประติมากรรมเจดีย์ทรายอัตลักษณ์ ๔ ภาค ที่ใหญ่ที่สุด กิจกรรมลานวัฒนธรรม ลานสร้างสรรค์ ช็อปสินค้าและผลิตภัณฑ์จากชุมชน การแสดงเพลงฉ่อย ๓ น้า (น้าโย่ง น้าพวง น้านงค์) การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นและร่วมสมัย ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ (EDM) และการแสดงจากศิลปินชื่อดังมากมาย
 
นายพลภูมิ กล่าวต่อว่า อัตลักษณ์ที่โดดเด่นของประเพณีสงกรานต์จ.ชลบุรี ก็คือประเพณีวันไหลพัทยา แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า ประเพณีก่อพระทรายน้ำไหล คือ เป็นวันทำบุญขึ้นปีใหม่ที่นิยมปฏิบัติต่อๆ กันมาในจังหวัดชลบุรี โดยจะกำหนดหลังวันสงกรานต์ประมาณ ๕ - ๖ วัน ชาวบ้านจะนิยมก่อพระเจดีย์ทรายถวายเป็นพุทธบูชา การก่อเจดีย์ทรายก็คือการขนทราย หาบทรายมากองสูงแล้วรดน้ำ เอาไม้ปั้นกลึงเป็นรูปทรงเจดีย์ ปักธงทิวต่าง ๆ ตกแต่งกันอย่างวิจิตบรรจง องค์ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง สุดแต่กำลัง เมื่อก่อเสร็จ พระเจดีย์ทรายแต่ละกองก็จะมีธงทิว พร้อมด้วยผ้าป่า ตลอดจนสมณบริขารถวายพระ พระสงฆ์ก็จะพิจารณาบังสุกุล ทำบุญเลี้ยงพระ เลี้ยงพระเสร็จก็เลี้ยงคนที่ไปร่วมงานเป็นการสนุกสนานในเทศกาลนี้

ผลที่ได้เมื่องานเสร็จแล้ว ทางวัดก็ได้ทรายไว้สำหรับสร้างเสนาสนะ ปูชนียสถานในวัดหรือถมบริเวณวัดพระสงฆ์ก็ได้เครื่องปัจจัยไทยธรรมต่าง ๆ ช่วงปลายฤดูร้อนจะย่างเข้าฤดูฝน วัดใดที่ใกล้ห้วย หนอง คลอง บึง ญาติโยมอุบาสกอุบาสิกา วัดก็จัดประเพณีก่อพระทรายน้ำไหลขึ้น วิธีการก็คือขุดลอกทรายที่ฝนซัดไหลมาลงรวมขังอยู่ตามคลอง หนอง บึง เป็นการขนทรายเข้าวัด และเป็นการพัฒนาท้องถิ่น ด้วยการรวมแรงคนเพื่อร่วมบุญขุดลอก ให้สะอาดเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน น้ำฝนจะได้ไหลสะดวก คู คลอง หนอง บึง  ไม่ตื้นเขิน หมู่บ้านสะอาด น้ำก็ไหลได้ตามปกติ ไม่ขังเจิ่งท่วมที่นั่นที่นี่ นี่คือประโยชน์ที่ได้จากการก่อพระทรายน้ำไหลในเทศกาล งานประเพณีนี้ชี้ให้เห็นความเจริญของวัฒนธรรมในท้องถิ่นเป็นอย่างดี แต่ด้วยสภาพของบ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป ความเจริญทางวิทยาการใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น การขนทราย โกยทราย หาบทราย เข้าวัดคนละหาบสองหาบก็เปลี่ยนสภาพมาเป็นซื้อทรายเป็นรถ ๆ ขนกันอย่างสะดวกสบาย และหลายวัด
ก็หมดความจำเป็นที่จะต้องใช้ทราย คู คลอง หนอง บึง ที่ทรายเคยซัดไหลมารวมกันก็ตัดเป็นถนนแปรสภาพจาก คู คลอง หนอง บึง ไปเกือบหมด จนแทบไม่มีการลอก คู คลอง หนอง บึง ในบริเวณใกล้ ๆ วัด งานก่อพระทรายน้ำไหลก็เปลี่ยนสภาพไป วัดต่าง ๆ หลายวัดไม่มีเจดีย์เป็นพุทธบูชา คำว่าเจดีย์ทรายก็หมดความหมายไป ก่อพระทรายเอาบุญก็เปลี่ยนสภาพไปพัฒนาไปตามกาลเวลา ก่อพระทรายน้ำไหล จึงเรียกสั้น ๆ ลงเหลือแค่ “วันไหล” หรือ “ประเพณีวันไหล”

นายพลภูมิ กล่าวอีกว่า รัฐบาล และทุกภาคส่วน ร่วมบูรณาการในการส่งเสริมประเพณีสงกรานต์ โดยจัดงาน ”เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์” ทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมประเพณีไทย นำเสนอความงดงามของวัฒนธรรมไทยและต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก มาร่วมสัมผัสประสบการณ์สงกรานต์และร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลนี้อย่างยิ่งใหญ่ไปด้วยกัน และมีความคาดหวังผลในการส่งเสริมประเพณีสงกรานต์ในปีนี้ ให้คนไทยทั่วโลกภาคภูมิใจและร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ พร้อมยกระดับประเพณีสงกรานต์สู่ World Event เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยมีการคาดการณ์ว่าจะสร้างรายได้จากงานเทศกาลสงกรานต์ ๒๕๖๘ นี้ ได้ถึง ๒๖๕๐๐ล้านบาท / และจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาร่วมงานถึง ๔๗๖๐๐๐คน / และนักท่องเที่ยวไทยเพิ่ม ๔๔๑๘๕๐๐ คน
 
นายพลภูมิ ฝากถึงพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวว่าประเพณีสงกรานต์เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยที่มีความหมายมากกว่าการเล่นน้ำ แต่เป็นเทศกาลแห่งความรัก ความกตัญญู และความอบอุ่นของครอบครัว ซึ่งควรค่าแก่การส่งต่อไปสู่สายตาชาวโลก ”สงกรานต์ไทยคือมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบทอดให้คนรุ่นหลัง เราต้องการให้สงกรานต์เป็นเทศกาลที่ทุกคนต้องมาเยือน อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต”


วธ.ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมสัมผัสความสนุกสนานรื่นเริงในเทศกาลสงกรานต์ ๒๕๖๘ ซึ่งจะเป็นเทศกาลที่มอบประสบการณ์สุดประทับใจให้แก่คนไทยและชาวโลก ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กรมส่งเสริมวัฒนธรรม: www.culture.go.th หรือ Facebook กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

 


#งาน “พัทยาชื่นฉ่ำ สืบสานตำนานสงกรานต์ จ.ชลบุรี“

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ