เมื่อ : 04 เม.ย. 2568

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ส่งเสียงถึง ‘แพทองธาร ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรี ทบทวนท่าทีต้อนรับ  ‘มิน อ่อง หล่าย’ ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง ระบุแม้เกิดแผ่นดินไหวยังเดินหน้าโจมตีประชาชน

 

เมื่อวันที่ 4 เม.ย. แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แสดงความกังวลต่อการที่รัฐบาลไทยเปิดประเทศต้อนรับ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ที่ได้เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมบิมสเทค (BIMSTEC) ที่กรุงเทพฯ ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากประชาคมโลกเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายลงอย่างต่อเนื่องในเมียนมา เพราะการให้พื้นที่กับผู้นำรัฐประหารในเมียนมาเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดพลาดด้านสิทธิมนุษยชนต่อประชาคมโลก


นายบัญชา ลีลาเกื้อกูล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี  2564 กองทัพเมียนมาได้สังหารประชาชนกว่า 6000 คน ควบคุมตัวบุคคลโดยพลการกว่า 20000 คน และได้รื้อฟื้นการประหารชีวิตตามคำสั่งศาลอีกครั้งหนึ่ง มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศกว่า 3.5 ล้านคน กลุ่มสิทธิมนุษยชนได้บันทึกข้อมูลการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายต่อผู้ที่ถูกกองทัพควบคุมตัว การโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมาย และการปิดกั้นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งอาจเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและอาชญากรรมสงคราม


ขณะที่ มิน อ่อง หล่าย เดินทางมาที่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 เม.ย. แอมเนสตี้พบว่าสถานการณ์ในเมียนยังมีการละเมิดเรื่องสิทธิมนุษยชนหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา จากรายงานของสื่อที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพเมียนมา พบว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2065 ราย และผู้บาดเจ็บกว่า 3900 คน ซึ่งในแต่ละวันพบจำนวนผู้บาดและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากปัญหาการสื่อสาร ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าตัวเลขที่แท้จริงจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา

 

“แอมเนสตี้มีข้อมูลว่า ปัจจุบันกองทัพเมียนมายังเดินหน้าโจมตีทางอากาศและโจมตีรูปแบบอื่นๆ ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว รวมถึงพบการขัดขวางความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ที่เป็นทางผ่านที่ตั้งของกลุ่มผู้เห็นต่างจากกองทัพเมียนมา และหลายพื้นที่ประชาชนขาดแคลนน้ำดื่ม อาหาร ที่พักอาศัย ยารักษาโรค และไฟฟ้า ชาวบ้านบางส่วนต้องใช้แผงโซลาร์เซลล์ขนาดเล็กแทน ในขณะที่คนอีกจำนวนมากต้องอาศัยนอนอยู่ริมถนนโดยใช้เสื่อ ผ้าใบ และกางมุ้งกันยุงหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว”


”การเปิดเวทีระหว่างประเทศให้กับ มิน อ่อง หล่าย ที่มีหมายจับจากศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) และศาลอาร์เจนตินา ในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จากการเนรเทศและการประหัตประหารชาวโรฮิงญาในเมียนมาและบางส่วนในบังกลาเทศ เป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะการประชุมนี้ไม่ใช่เพียงการประชุมระดับภูมิภาค แต่เป็นเวทีที่อาจถูกใช้เพื่อฟอกขาวภาพลักษณ์ให้กับรัฐบาลทหารเมียนมา ทั้งที่ความเป็นจริงพวกเขายังคงใช้ความรุนแรงกับประชาชนของตัวเอง  แม้จะมีสถานการณ์แผ่นดินไหวก็ไม่ละเว้นการโจมตีทางอากาศและการโจมตีรูปแบบอื่นๆ โดยไม่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนสากล”

นายบัญชา กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่รัฐบาลไทยให้พื้นที่ผู้นำกองทัพเมียนมาที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในครั้งนี้มาร่วมงานการประชุมสุดยอดผู้นำ BIMSTEC อาจส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์กับประชาคมโลกโดยเฉพาะกับประเทศที่ยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน ทำลายกระบวนการยุติธรรมสากลและหลักนิติธรรมระหว่างประเทศโดยรวม และการที่ประเทศไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) ประเทศไทยจึงมีหน้าที่ต้องปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง  


“ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ต้องเลือกยืนเคียงข้างประชาชนที่ถูกประหัตประหาร การต้อนรับมิน อ่อง หล่าย ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่เกิดขึ้น ถือเป็นการเพิกเฉยต่อชะตากรรมของประชาชนเมียนมาที่กำลังถูกกดขี่และถูกสังหาร รัฐต่าง ๆ มีหน้าที่ร่วมกันในการตรวจสอบผู้ต้องสงสัยในอาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศอย่างเต็มที่ รัฐบาลไทยต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าให้ความสำคัญเร่งด่วนกับชีวิตผู้คน และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนในเมียนมาจะต้องมาก่อนผลประโยชน์ทางการเมือง เพื่อทำหน้าที่ให้เหมาะสมกับการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ”

นายบัญชา กล่าว


*บิมสเทค คือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation – BIMSTEC) ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกจาก 7 ประเทศในแถบอ่าวเบงกอล ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย

 

#แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย#การประชุมบิมสเทค (BIMSTEC#