เมื่อ : 15 ต.ค. 2567

เมื่อวันที่ ๑๓ ต.ค. เวลา ๐๖.๓๐ น. นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พร้อมด้วย นายปรีชา ลิ้มถวิล รองเลขาธิการ  สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  นางสาวอมรรัตน์ แขวงโสภา ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง นายสุริยะ ลิภตะไชยโย รักษาการผู้อำนวยการกลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ และคณะ ร่วมวางพวงมาลาเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่ิองในวันนวมินทรมหาราช วันที่ ๑๓ ต.ค.

ที่บริเวณอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ ๙ ถนนศรีอยุธยา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

๑๓ ต.ค. ”วันนวมินทรมหาราช” เป็นปีที่ ๘ ของวันสวรรคตในหลวงรัชกาลที่ ๙ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ตามที่รัฐบาลได้ขอพระราชทานพระมหากรุณา และคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๖ ก.ย.  ๒๕๖๖ ได้กำหนดชื่อวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันที่ ๑๓ ตุลาคมของทุกปี ว่า ”วันนวมินทรมหาราช” ซึ่งแปลว่า วันที่ระลึกถึงพระมหากษัตริย์มหาราช ผู้ยิ่งใหญ่ (รัชกาลที่ ๙ )

ในอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ ๙ มีเนื้อที่ ๒๗๙ ไร่ เมื่อเสร็จสมบูรณ์จะเป็นพื้นที่แลนด์มาร์ค สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นแหล่งเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ใน ๙ เรื่องน่ารู้ ของ “อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ ๙” สวนสวยกลางกรุงเทพมหานคร ใต้ร่มพระบารมีที่เป็นมากกว่าสวนสาธารณะทั่วไป คือ


๑. จากอดีตสนามม้าสู่ อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ ๙ สร้างบนพื้นที่อดีต “สนามม้านางเลิ้ง” ซึ่งเป็นที่ดินในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้สร้างเป็นสวนสาธารณะเพื่อประโยชน์สุขแก่ปวงชน

๒. สวนสวยขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ : อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ ๙ มีพื้นที่ ครอบคลุมพื้นที่ ๒๗๙ ไร่ ซึ่งเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่อีกแห่งในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในรองจากสวนลุมพินี และสวนเบญจกิตติ สวนแห่งนี้เริ่มพัฒนาแบบตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๖๑ คาดว่าจะสร้างเสร็จภายใน พ.ศ. ๒๕๖๗

๓. แนวคิดป่าและน้ำ : อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ ๙ เกิดขึ้นจากพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ซึ่งทรงตั้งพระราชหฤทัยเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานอุทยานเฉลิมพระเกียรติแห่งนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริของทั้งสองพระองค์ ผ่านองค์ความรู้เรื่อง “ป่าและน้ำ” ซึ่งนำมาเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบสวนแห่งนี้


๔. สวนสมัยใหม่ : อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ ๙ เป็นสวนสาธารณะที่ออกแบบตามแนวคิดของสวนสมัยใหม่ หรือ “Modern Park” ที่นอกจากจะออกแบบอย่างทันสมัยสวยงาม มีแนวคิดสื่อความหมายชัดเจน มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการออกแบบสวนแห่งนี้ โดยคำนึงถึงประโยชน์การใช้สอยที่เชื่อมโยงวิถีความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติไว้ด้วยกันน่าสนใจอย่างยิ่ง

๕. จุดเด่นตามรอยพ่อ : ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ ๙ จึงมีแนวคิดในการออกแบบของสิ่งต่าง ๆ ภายในสวนแห่งนี้ให้เกี่ยวข้องกับในหลวงรัชกาลที่ ๙ โดยนำ

- “พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๙” ประดิษฐานอยู่กลางสวนซึ่งถือเป็นหัวใจและศูนย์กลางของสวนสาธารณะแห่งนี้

- “สะพานหมายเลข ๙” ที่เป็นเส้นทางเดินภายในสวนนำสู่ พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๙

- “สะพานหยดน้ำพระทัย” ที่สื่อให้เห็นถึง น้ำพระราชหฤทัยดั่งสายน้ำที่หล่อเลี้ยงคนไทยมาตลอดระยะเวลา ๗๐ ปี สะพานที่ออกแบบอย่างสวยงาม โดยเฉพาะยามสะท้อนเงาจากแผ่นน้ำ

- “สะพานไม้เจาะบากง” เป็นการจำลองสะพานไม้เจาะบากง จังหวัดนราธิวาส สะพานที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เคยเสด็จไปทรงงาน บริเวณสะพานมีท่าน้ำ น้ำตกและลำธารจำลองตามแบบป่าฝนเขตร้อนที่ออกแบบอย่างสวยงาม

นอกจากนี้ ยังมี “สระน้ำรูปเลข ๙” และ “สวนป่าธรรมชาติ” ที่สอดรับกับแนวคิดเรื่องป่าและน้ำของอุทยานฯแห่งนี้

 

๖. แก้มลิงแสนสวย : สระน้ำรูปเลข ๙ ไทย ที่เป็นหนึ่ง จุดเด่นของอุทยานฯแห่งนี้ นอกจากออกแบบอย่างสวยงาม เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว ยังมีความสำคัญคือ เป็นพื้นที่รองรับน้ำ หรือ “แก้มลิง” ในยามวิกฤตจากอุทกภัยอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ โดยสามารถผันน้ำเชื่อมโยงกับคลองเปรมประชากรที่อยู่ด้านนอกของอุทยานฯ แห่งนี้


๗. แหล่งศึกษาเรื่องน้ำ : ภายในอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ ๙ ยังสะท้อนแนวคิดหลักด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีการทำพื้นที่ชุ่มน้ำ ปลูกพืชชุ่มน้ำ พืชกรองน้ำ พืชบำบัดน้ำ มีบ่อเลี้ยงปลานิล ฝายชะลอน้ำ และกังหันน้ำชัยพัฒนา เพื่อสร้างระบบนิเวศที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน


๘. สวนป่าธรรมชาติ : เป็นส่วนเชื่อมโยงของแหล่งศึกษาเรื่องน้ำ โดยอุทยานฯ แห่งนี้ มีการปลูกต้นไม้ใหญ่ให้สวยงามร่มรื่นถึงราว ๔๕๐๐ ต้น ในลักษณะของสวนป่าธรรมชาติ และปลูกไม้ที่มีความหมายและมีประโยชน์ อาทิ ปลูกป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง ต้นไม้โตเร็วเพื่อสร้างร่มเงา ต้นไม้ประจำจังหวัด ไม้หายาก รวมถึงมีการทำเกษตรทฤษีใหม่เพื่อให้ผู้มาใช้สวนแห่งนี้ได้รับความรู้ในหลากหลายมิติ อีกทั้งยังได้รับความเพลิดเพลินต่าง ๆ จากธรรมชาติภายในสวนแห่งนี้


๙. สวนแห่งนี้ เป็นมากกว่าสวนสาธารณะ : อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ ๙ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานคร ที่เป็นมากกว่าสวนสาธารณะทั่วไป เพราะที่นี่เป็นสวนสาธารณะแสนสวย เป็นสวนป่าธรรมชาติในลักษณะของพิพิธภัณฑ์มีชีวิต  เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ เป็นสถานที่ออกกำลังกาย เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เป็นพื้นที่แลนด์มาร์กสำคัญให้กับประชาชน นักท่องเที่ยว และชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย

อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในแหล่งเรียนรู้สำคัญใต้ร่มพระบารมี “พ่อของแผ่นดิน” ที่เปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ