เมื่อ : 14 ต.ค. 2567

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าประมงสูงถึง 1476538 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 211280 ล้านบาท ถือเป็นแหล่งสร้างรายได้และมีความสำคัญในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก ประกอบกับปัจจุบันต่างประเทศยังคงมีแนวโน้มความต้องการบริโภคสินค้าประมงของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีผู้ค้ารายใหม่ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่ต้องการการรับรองเพื่อส่งออกสินค้าประมงมากขึ้น กรมประมงจึงนำ Application Line มาใช้เป็นช่องทางในการสื่อสารและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในการให้คำปรึกษา แนะนำ และตอบข้อซักถามเกี่ยวกับกระบวนการส่งออกสินค้าประมง ตามนโยบายของ นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับ “คลินิกสินค้าประมงส่งออก” เป็นช่องทางที่กรมประมงได้เริ่มให้บริการในการตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับขั้นตอนการส่งออกสินค้าประมงผ่าน Application Line เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการเป็นจำนวนมากจนสมาชิกเต็มจำนวน 500 คน และไม่สามารถเพิ่มจำนวนสมาชิกได้ ดังนั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการที่สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น และรองรับจำนวนสมาชิกที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต กรมประมงจึงเปิดช่องทางใหม่ผ่านทาง Line Openchat “ห้องสนทนาสินค้าประมงส่งออก” ซึ่งสามารถรองรับสมาชิกได้ถึง 5000 คน โดยผู้ประกอบการสามารถขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับกระบวนการขอการรับรองได้อย่างละเอียด ตั้งแต่รายละเอียดของข้อกำหนดประเทศคู่ค้า การขึ้นทะเบียนสถานประกอบการกับกรมประมง การขอรับรอง GMP/HACCP การตรวจสุขอนามัยแพปลา ท่าเทียบเรือ สถานบรรจุสัตว์น้ำ และโรงงานแปรรูป รวมถึงขั้นตอนการขอใบรับรองสุขอนามัย เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงไปยังต่างประเทศได้ถูกต้องตามกฎระเบียบและข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า

นอกจากนี้ กรมประมงยังได้ร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชนในการจัดสัมมนาออนไลน์ เรื่อง กฎระเบียบและข้อกำหนดในการรับรองโรงงานผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ประมงส่งออก โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถซักถามข้อกำหนดและขั้นตอนการขอการรับรองโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ประมงส่งออก มาตรฐานผลิตภัณฑ์ประมงส่งออกทั้งทางด้านเคมี จุลินทรีย์ และกายภาพ ข้อกำหนดการออกใบรับรองสุขอนามัย รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประสบการณ์ด้านการส่งออกสินค้าประมงไปยังต่างประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการสามารถนำไปปรับใช้กับสถานประกอบการของตนเองได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม มีกระบวนการผลิตที่สอดคล้องตามมาตรฐานสากล และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งการสัมมนาดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 200 ราย

 

สำหรับผู้ประกอบการส่งออกสินค้าประมงที่สนใจสามารถขอรับคำปรึกษา แนะนำ ได้โดยการสแกน QR-Code เข้าร่วมกลุ่ม Line Openchat หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองตรวจสอบคุณภาพสินค้าประมง กรมประมง โทร. 02 562 0600 – 5 ต่อ 13119  ในวันและเวลาราชการ หรือทางอีเมล fiqd@dof.mail.go.th