“ศุภมาส” ชูระบบข้อมูล”สุขเสมอกันที่ศรีสะเกษ” โมเดลแก้ปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จ แม่นยำ ยั่งยืน นำคนจนตกหล่นเข้าสู่ระบบ

พร้อมต่อยอดสู่โครงการสร้างทักษะอาชีพ ผลักดันการเข้าถึงสวัสดิการที่ควรได้รับของประชาชนในพื้นที่
เมื่อวันที่ 20 มี.ค. น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยนายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวง อว. ลงพื้นที่ตรวจติดตามผลงานวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ “มหกรรมแก้จน คนของพระราชา” ที่เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันของมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)ศรีสะเกษ กับหน่วยบริหารและจัดการทุนเพื่อการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยมี ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วย บพท. ผศ.ดร.สหัสา พลนิล รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มรภ.ศรีสะเกษ คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าร่วม ที่จ.ศรีสะเกษ
น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า ผลงานนี้เกิดขึ้นจากการประสานพลังของสถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานในสังกัด อว. ทั้งมรภ.ศรีสะเกษ และหน่วย บพท. ที่ให้การสนับสนุนทุนวิจัย เพื่อพัฒนาชุดความรู้สำหรับแก้ปัญหาความยากจนให้เป็นไปด้วยความเบ็ดเสร็จ แม่นยำ และยั่งยืน และยังมีการบูรณาการทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนภาคประชาสังคมในพื้นที่ ทำให้เกิดระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนของจังหวัดศรีสะเกษ ภายใต้ชื่อ “สุขเสมอกันที่ศรีสะเกษ” หรือ “Sisaket Equity System-SES”

”ด้วยการทำงานร่วมกันนี้ ทำให้เรามีแผนในการพัฒนาโครงการที่เน้นการสร้างทักษะอาชีพและผลักดันให้เข้าถึงสวัสดิการที่ควรจะได้รับ เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ โดยการใช้ระบบข้อมูลครัวเรือนความยากจนกลาง ”สุขเสมอกันที่ศรีสะเกษ (SES)” เป็นระบบที่จะสอบทานและ “นำคนจนตกหล่นเข้าสู่ระบบ” น.ส.ศุภมาส กล่าว
ด้าน นายศุภชัย กล่าวว่า การลงพื้นที่จ.ศรีสะเกษ ทำให้ทราบว่าระบบข้อมูลสุขเสมอกันที่ศรีสะเกษ ได้ถูกใช้เป็นฐานข้อมูลในการออกแบบโมเดลแก้จน ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรม สำหรับแก้ปัญหาความยากจนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและบริบทพื้นที่ อาทิ โมเดลผักปลอดภัย นวัตกรรมการแปรรูปถั่วเหลืองเป็นอาหารมังสะวิรัติเพื่อสุขภาพ ซึ่งช่วยสร้างความมั่นคงด้านอาชีพ และยกระดับรายได้แก่ครัวเรือนยากจนให้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเดือนละ 3000 บาท
อีกทั้ง เกิดเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง และพึ่งพาตัวเองได้ นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ ด้วยการขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการเพื่อครัวเรือนคนจน เกิดความยั่งยืนในการช่วยเหลือครัวเรือนที่มีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติ และสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ

ด้าน ผศ.ดร.สหัสา กล่าวว่า ระบบข้อมูลสุขเสมอกันที่ศรีสะเกษ เป็นผลจากการทุ่มเททำงานร่วมกันของภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งระบบนี้ทำให้เกิดนวัตกรรมพร้อมใช้ที่มีความหลากหลายสำหรับครัวเรือนยากจน ทั้งนวัตกรรมระบบปฏิทินการปลูกพืชผลการเกษตร นวัตกรรมน้ำหมักชีวภาพจากเศษวัสดุการเกษตร นวัตกรรมแปรรูปถั่วเหลืองเป็นอาหารมังสวิรัติพร้อมใช้พร้อมทาน ในรูปของแป้งถั่วเหลือง รวมทั้งการขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการช่วยเหลือครัวเรือนยากจนที่ประสบภัยพิบัติ อีกด้วย
ขณะที่ ดร.กิตติ กล่าวว่า ผลลัพธ์ความสำเร็จนี้ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนยากจน ได้รับการแก้ไขให้บรรเทาจากความยากจน มีรายได้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ มีอาชีพที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันระบบข้อมูลสุขเสมอกันที่ศรีสะเกษ ยังได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากหน่วยงานภาครัฐนำไปใช้เป็นฐานข้อมูล เพื่อวางแผนจัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่อย่างกว้างขวางครอบคลุมทั่วทุกอำเภอในจ.ศรีสะเกษต่อไป
#มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ #หน่วยบริหารและจัดการทุนเพื่อการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)