เมื่อ : 12 มี.ค. 2568

สว.สาย SME ตั้งคำถาม ปปง. ใช้มาตรฐานใดในการยึดอายัดทรัพย์สิน การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นธรรมเท่าเทียม หรือตรวจสอบบางกลุ่มเข้มงวด ขณะที่บางกลุ่มรอดพ้น พร้อมเรียกร้องให้ ปปง. เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ และตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ หวั่นกระบวนการยึดทรัพย์ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

 

เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่รัฐสภา ในระหว่างการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 22 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ซึ่งมี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานสภาคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ในวันนี้มีการรายงานผลการปฏิบัติงานของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยน.ส.มณีรัฐ เขมะวงศ์ สมาชิกวุฒิสภา สาย SME จ.เชียงราย ได้อภิปรายถึงรายงานผลการปฏิบัติงานของ ปปง. โดยตั้งคำถามถึง ความโปร่งใสและความเป็นธรรมของกระบวนการยึดและอายัดทรัพย์สิน ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจว่า จากรายงานของ ปปง. ในปีงบประมาณที่ผ่านมา มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินรวมกว่า 41179733330.59 บาท และดำเนินการขายทอดตลาด 29 ครั้ง ขายทรัพย์สินได้ 1427 รายการ คิดเป็นมูลค่า 307722861 บาท ขณะที่ทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินถูกส่งกระทรวงการคลัง มูลค่า 8792315578.11 บาท โดยน.ส.มณีรัฐ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการยึดทรัพย์ของ ปปง. ยังมีความลักลั่นและขาดความโปร่งใส โดยระบุว่า “มีบุคคลบางกลุ่มถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด ขณะที่บางกลุ่มกลับไม่ถูกตรวจสอบ ทั้งที่มีพฤติการณ์ที่น่าสงสัย ปปง. ใช้มาตรฐานใดในการพิจารณาว่าจะยึดหรืออายัดทรัพย์สินของบุคคลใด

 

น.ส.มณีรัฐ ยังตั้งคำถามอีกว่า ข้อมูลทรัพย์สินที่ ปปง. ประกาศยึด ได้ถูกนำส่งเป็นของแผ่นดินจริงหรือไม่ หรือมีการคืนให้เจ้าของโดยไม่มีการเปิดเผยข้อมูล และประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้จากแหล่งใดได้บ้าง เพราะที่ผ่านมายังไม่มีช่องทางให้ตรวจสอบอย่างชัดเจน จึงทำให้สังคมกังวลว่ามีการเลือกปฏิบัติ บังคับใช้กฎหมายไม่เท่าเทียมกัน

 

น.ส.มณีรัฐ ยังระบุอีกว่า มีความเสี่ยงที่การยึดทรัพย์ของ ปปง. จะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เนื่องจากพบว่ามีบุคคลบางกลุ่มถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด แต่บางกลุ่มกลับรอดพ้น แม้จะมีพฤติการณ์ต้องสงสัย

 

“การทำงานของ ปปง. ส่งผลโดยตรงต่อสิทธิในทรัพย์สินของประชาชน หากไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน อาจกลายเป็นกลไกที่ถูกใช้เพื่อเล่นงานฝ่ายตรงข้าม หรือเปิดช่องให้เกิดการใช้อำนาจในทางมิชอบ” น.ส.มณีรัฐ กล่าว

 

สว.สาย SME ยังกล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 63 และมาตรา 164 ได้กำหนดให้รัฐต้องมีมาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อปกป้องระบบเศรษฐกิจของประเทศ และป้องกันการใช้ระบบการเงินเป็นเครื่องมือของอาชญากรรม แต่หากกระบวนการยึดทรัพย์ของ ปปง. ขาดความโปร่งใสและเลือกปฏิบัติ ก็อาจกลายเป็นภัยต่อหลักนิติรัฐได้เช่นกัน 


ตนจึงอยากจะเรียกร้องให้ ปปง. เปิดเผยข้อมูล-ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการทำงานของ ปปง. โดยอาจจะจัดทำระบบเปิดเผยข้อมูลสาธารณะเกี่ยวกับการยึดทรัพย์ ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการยึดทรัพย์ การขายทอดตลาด และการคืนทรัพย์สิน ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบการทำงานของ ปปง. เพื่อให้แน่ใจว่ามาตรฐานการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม และสร้างกลไกตรวจสอบภายใน เพื่อป้องกันการใช้อำนาจในทางมิชอบ และเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการขายทอดตลาดและผู้ที่ได้รับทรัพย์สินให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้

“ประชาชนต้องมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินที่ถูกยึด และ ปปง. ต้องมีมาตรการกำกับดูแลที่เป็นอิสระ เพื่อป้องกันการเลือกปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมาย”

 

น.ส.มณีรัฐ กล่าวอีกว่า หากไม่มีการปฏิรูปกลไกการตรวจสอบ ปปง. อาจสูญเสียความน่าเชื่อถือ และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมโดยรวม โดยวุฒิสภาจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่าการยึดและอายัดทรัพย์สินของ ปปง. เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและตรวจสอบได้อย่างแท้จริง

 

#สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)#